ประวัติคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร

     สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร เกิดขึ้นจากนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในสมัย นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย เป็นอธิการบดี (พ.ศ.2516-2518) ที่ต้องการรวมห้องสมุดคณะต่างๆซึ่งประกอบด้วยห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์และห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เป็นหอสมุดกลางเพียงแห่งเดียว หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร จึงเป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 มีฐานะเป็นงานหอสมุดกลาง สังกัดกองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี จนกระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้รับการยกฐานะเป็น ฝ่ายหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร สังกัดสำนักวิทยบริการ

    คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร เกิดในตระกูล “กรรณสูต” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2433 ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นธิดาของ นายฮะหยง นางชุ่ม มีน้องร่วมบิดามารดา 8 คน ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วทุกคน ชีวิตในวัยเยาว์นั้นท่านมิได้รับการศึกษาจากโรงเรียนแต่อย่างใด เพราะสมัยนั้นการศึกษาสำหรับกุลสตรี ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญนัก ความรู้เรื่องการบ้านการเรือนสำคัญกว่า ท่านจึงได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิดจากคุณนายกีผู้เป็นย่าเท่านั้น เมื่ออายุได้ 18 ปี สมรสกับ นายสงวน ศตะรัต ซึ่งขณะนั้นเป็นมหาดเล็กในวัง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากสมรสแล้ว คุณหญิงหลงฯ ต้องติดตามสามีโยกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดหลายแห่ง ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย เป็นนายอำเภอ อัยการข้าหลวงมหาดไทย เจ้าเมือง ปลัดมณฑล จนถึงสมุหเทศาภิบาล นายสงวนผู้สามีได้รับเลื่อนยศฐาบรรดาศักดิ์ต่อเนื่องกันมาตามลำดับ จนในที่สุดได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาอรรถกระวีสุนทร ในปี 2464 เป็นองคมนตรีในปี 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครองของประเทศไทย มีการยุบตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล พระยาอรรถกระวีสุนทร พ้นจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี เป็นข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย และเป็นข้าหลวงใหญ่ในสังกัดคณะรัฐมนตรีตามลำดับ จนครบเกษียณอายุรับราชการในปี 2481

    คุณหญิงหลงฯ มีบุตรและธิดา 4 คน ซึ่งเมื่อพระยาอรรถกระวีสุนทร ออกจากราชการแล้ว บุตรและธิดาทั้งสี่ก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานของ บริษัทอรรถกระวีสุนทร ทำกิจการเหมืองวุลแฟรมต่อมา โดยที่ คุณหญิงหลงฯ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าใดนัก ฉะนั้น เมื่อท่านมีโอกาสที่จะช่วย ทำนุบำรุงการศึกษาได้ ท่านจะไม่ปล่อยให้พลาดโอกาส เมื่อระหว่างที่พระยาอรรถกระวีสุนทร ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ท่านริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น สร้างโรงเรียนเล็กๆ ช่วยเหลือเด็กที่ยากจน โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในด้านสังคมสงเคราะห์ คุณหญิงหลงฯ ยังมีส่วนในการบริจาคเงินอุดหนุนโรงพยาบาล โดยตั้งทุนบำรุงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ของสภากาชาดไทย สร้างตึกพยาบาลเด็กเกิดก่อนกำหนด ที่โรงพยาบาลศิริราช ในด้านการบำรุงพุทธศาสนา คุณหญิงหลงฯ และน้อง ๆ ได้ร่วมกันสละที่นา จัดสร้างวัด สร้างกุฏิเจ้าอาวาสพร้อมด้วยสุขศาลาสำหรับประชาชน สร้างพระประธาน และสร้างเมรุให้แก่วัด เมื่อพระยาอรรถกระวีสุนทรถึงแก่กรรม เมื่อปี 2500 คุณหญิงหลงฯ เป็นผู้รับภาระในธุรกิจต่อมาแต่ผู้เดียว สิ่งที่ทำความพอใจอย่างยิ่งยวดในบั้นปลายชีวิตของท่าน ก็คือเมื่อทางราชการมีนโยบายสร้างมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคและพบว่าสถานที่ ที่เหมาะสมคือ สวนยางของคุณหญิงหลงฯ ที่ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ ซึ่ง ดร.สตางค์ มงคลสุข รับเป็นผู้มาติดต่อขอซื้อจากท่าน แต่คุณหญิงหลงฯ มีความปรารถนาจะส่งเสริมการศึกษาของชาติอยู่แล้ว จึงทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินส่วนนั้น เป็นจำนวนกว่า 690 ไร่ ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เพื่อมอบให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะจัดตั้งขึ้นโดยไม่คิดมูลค่า เนื่องในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพายชั้นปถมาภรณ์มงกุฎไทยให้เป็นเกียรติ แก่คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร และต่อมาคณะผู้จัดการมรดกได้มอบที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 90 ไร่ รวมเป็นจำนวนเกือบ 800 ไร่ ในบั้นปลายชีวิต ท่านพำนักอยู่ที่บ้านซอยนานาเหนือ และถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2520 สิริมายุรวม 87 ปีเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ใช้นามของท่านเป็นชื่อหอสมุดกลาง ของวิทยาเขตหาดใหญ่ว่า หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร

Scroll to Top